การจัดการศึกษางานมหกรรมการศึกษาท้องถิ่น ระดับประเทศ ประจำปี 2554

วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การอ่านและการเขียนคำมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้เทคนิค SQ3R และแบบฝึกเสริมทักษะ

กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
ผู้ศึกษา         นางสุมาวดี แซ่ย่อง
หน่วยงาน       โรงเรียนเทศบาลบ้านนาเหนือ กองการศึกษา เทศบาลเมืองทุ่งสง
             อำเภอทุ่งสง  จังหวัดนครศรีธรรมราช
ปีที่พิมพ์        2553

                            บทคัดย่อ



           การศึกษาครั้งนี้มีความมุ่งหมาย 1)เพื่อการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ เรื่องการอ่านและการเขียนสะกดคำมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้เทคนิค  SQ3R  และแบบฝึกทักษะ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์  80/80 2)เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การอ่านและการเขียนคำมาตรตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้เทคนิค SQ3Rและแบบฝึกเสริมทักษะชั้นประถมศึกษาปีที่ 2  ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน  3) เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การอ่านและการเขียนสะกดคำมาตราตัวสะกดกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้เทคนิค SQ3Rและแบบฝึกเสริมทักษะชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 4)เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การอ่านและการเขียนสะกดคำมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้เทคนิค  SQ3R  และแบบฝึกเสริมทักษะชั้นประถมศึกษาปีที่ 2กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2/1 โรงเรียนเทศบาลบ้านนาเหนือ  กองการศึกษาเทศบาลเมืองทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2552 จำนวน 34 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling)  เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ หนังสือส่งเสริมการอ่าน  เรื่อง  การอ่านและการเขียนสะกดคำมาตราตัวสะกด  ชั้นประถมศึกษาปีที่  2  จำนวน 8  เรื่อง แบบฝึกเสริมทักษะ เรื่อง การอ่านและการเขียนสะกดคำมาตราตัวสะกด  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย จำนวน 8  ชุด  แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การอ่านและการเขียนคำมาตราตัวสะกด  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย จำนวน 16  แผนการจัดการเรียนรู้  แผนละ 2  ชั่วโมง รวมเวลา  32  ชั่วโมง  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  เรื่อง  การอ่านและการเขียนสะกดคำมาตราตัวสะกด  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  ชนิดเลือกตอบ 3  ตัวเลือก  จำนวน 30  ข้อ  มีค่าอำนาจจำแนก  (B)  อยู่ระหว่าง 0.27 ถึง 0.39  มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.90  แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียน เรื่อง  การอ่าน  และการเขียนคำมาตราตัวสะกด  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 3  ระดับ  จำนวน 10  ข้อ  มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อ  (t)  อยู่ระหว่าง  0.24  ถึง  0.37  มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.86  สถิติที่ใช้ในการศึกษา  คือ  ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและดัชนีประสิทธิผล  และ  T-test  Dependent
       ผลการศึกษาปรากฏดังนี้ 
        1.  รูปแบบการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การอ่านและการเขียนคำมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โดยใช้เทคนิค SQ3R และแบบฝึกเสริมทักษะ มีประสิทธิภาพ  84.21/90.64 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์  80/80  ที่ตั้งไว้  
        2. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การอ่านและการเขียนคำมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้เทคนิค SQ3R และแบบฝึกเสริมทักษะ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2  หลังเรียนสูงขึ้นกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
       3. ดัชนีประสิทธิผลของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ เรื่อง  การอ่านและการเขียนคำมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้เทคนิค  SQ3R และแบบฝึกเสริมทักษะ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีค่าเท่ากับ  0.5431  แสดงว่านักเรียนมีความก้าวหน้าในการเรียนคิดเป็น    ร้อยละ 54.31
       4. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบการจัด     การเรียนรู้  เรื่อง  การอ่านและการเขียนคำมาตราตัวสะกด  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้เทคนิค  SQ3R  และแบบฝึกทักษะ  ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2  โดยรวมอยู่ในระดับมาก 
     


 

 


 

การพัฒนาแผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการกิจกรรมสร้างสรรค์ด้วยวัสดุท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 (อายุ 4 – 5 ปี)

โรงเรียนรีสอร์ทอนุบาลทุ่งสง  เทศบาลเมืองทุ่งสง  จังหวัดนครศรีธรรมราช

ชื่อผู้วิจัย            นางจันจิรา   ดวงทอง

ปีที่วิจัย             2555

 

            การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการกิจกรรมสร้างสรรค์ด้วยวัสดุท้องถิ่นของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 (อายุ 4-5 ปี) โดยนักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 มีคะแนนความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชาย-หญิง ที่มีอายุระหว่าง 4-5 ปี โรงเรียนรีสอร์ทอนุบาลทุ่งสง  เทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคเรียนที่ 2  ปีการศึกษา 2555 จำนวน 40 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการกิจกรรมสร้างสรรค์ด้วยวัสดุท้องถิ่น จำนวน 15 แผน แบบสังเกตพฤติกรรมการร่วมกิจกรรมของนักเรียน แบบสังเกตความคิดสร้างสรรค์และแบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ท้ายวงจร วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ผลการศึกษาพบว่า

1. แผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการกิจกรรมสร้างสรรค์ด้วยวัสดุท้องถิ่นไปใช้กับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2  โรงเรียนรีสอร์ทอนุบาลทุ่งสง ซึ่งหาประสิทธิภาพโดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 คน พบว่า ประสิทธิภาพของแผนโดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.32 ซึ่งอยู่ในระดับเหมาะสมมาก

            2. ผลคะแนนความคิดสร้างสรรค์จากแบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ใน 3 ด้าน คือ ด้านการคิดคล่อง  ด้านการคิดริเริ่ม และด้านการคิดละเอียดลออ พบว่า ด้านการคิดคล่อง นักเรียนผ่านเกณฑ์ จำนวน 35 คน คิดเป็นร้อยละ 87.50 ด้านการคิดริเริ่ม นักเรียนผ่านเกณฑ์ จำนวน 37 คน คิดเป็นร้อยละ 92.50 และด้านการคิดละเอียดลออ นักเรียนผ่านเกณฑ์ จำนวน 36 คน คิดเป็นร้อยละ 90.00